ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “ยากูซ่า” แต่คงมีเพียงไม่กี่คนที่ทราบความหมายที่แท้จริงของคำนี้ ชาวญี่ปุ่นเองส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยนึกถึงหรือเกิดความกลัวเมื่อพูดถึงคำนี้ ซึ่งดูเหมือนจะกลายเป็นคำต้องห้ามในระดับหนึ่ง เรามาดูกันว่ายากูซ่าคืออะไร และทำไมยากูซ่าถึงเป็นที่หวาดกลัวในสังคมญี่ปุ่น
ยากูซ่าหรือที่เรียกอีกอย่างว่า “โกะคุโด (Gokudo)” เป็นหนึ่งในกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น โดยมีบทบาทในธุรกิจเกือบทุกสาขาทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ตั้งแต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงธุรกิจฟอกเงินและการค้ามนุษย์
ยากูซ่ามีระบบโครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายครอบครัว ซึ่งเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “โอยะบุง-โคะบุง (oyabun-kobun)” โดยมีโอยะบุงเป็นเหมือนพ่อและโคะบุงเป็นเหมือนลูก การจัดลำดับขั้นนี้เป็นไปอย่างเข้มงวดและต้องปฏิบัติตามในทุกกรณี การไม่แสดงความเคารพหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของโอยะบุงจะนำไปสู่การลงโทษ โดยวิธีที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดได้แก่การตัดนิ้วก้อยหรือที่เรียกว่า “ยูบิสึเมะ (yubitsume)” ซึ่งยังถือเป็นการขอโทษวิธีหนึ่งอีกด้วย กล่าวคือการตัดนิ้วส่งไปให้ “คุมิโจ (kumicho)” หรือหัวหน้าแก๊งเพื่อขอให้ยกโทษต่อสิ่งที่ทำลงไป
คำว่า “ยากูซ่า” หมายถึง 8-9-3 ซึ่งเป็นผลรวมที่แย่ที่สุดในการเล่นไพ่แบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า “โออิโจ-คาบุ (Oicho-Kabu)” ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับการเล่นไพ่แบล็คแจ็ค (Blackjack) ต่างกันตรงที่แต้มสูงสุดของโออิโจ-คาบุไม่ใช่ 21 แต่เป็น 19 โดยเลข 8, 9 และ 3 เมื่อนำมารวมกันจะได้ 20 ซึ่งไม่มีประโยชน์ใดๆ ในการเล่นเลย จึงเป็นที่มาของชื่อยากูซ่าซึ่งหมายถึงผู้ที่ “ไร้ประโยชน์”
แม้ว่าที่มาของยากูซ่าจะยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่กล่าวกันว่ายากูซ่ามีต้นกำเนิดย้อนไปในสมัยเอโดะ (ศตวรรษที่ 18) เมื่อนักพนันและพ่อค้าเร่ในสมัยนั้นได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มองค์กรอาชญากรรม อีกแนวคิดหนึ่งกล่าวว่ายากูซ่าเกิดจากการรวมตัวของซามูไรผู้ไร้นายและไร้บ้านที่เรียกว่า “คาบุกิโมโน” (Kabukimono) ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ซึ่งได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มและเกิดเป็นตระกูลต่างๆ
หนึ่งในสัญลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของยากูซ่าได้แก่รอยสักเต็มตัว ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงถึงกลุ่มต่างๆที่ตนสังกัดอยู่ และแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญของเจ้าของเรือนร่างจากการที่ต้องอดทนต่อความเจ็บปวดในการสักลงบนผิวหนัง
ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เมื่อเห็นคนมีรอยสักก็มักจะเข้าใจว่าเป็นยากูซ่าและแสดงความรังเกียจ ตัวอย่างเช่น กรณีของนายกเทศมนตรีโอซาก้าที่ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานราชการที่มีรอยสักไปลบรอยสักออก
ถึงตอนนี้ผู้อ่านคงมีความเข้าใจเกี่ยวกับยากูซ่ามากขึ้นแล้ว หากไปญี่ปุ่นแล้วเห็นใครที่มีรอยสักอยู่บนตัวเป็นจำนวนมาก เขาอาจเป็นยากูซ่าก็ได้ แต่ไม่ต้องตกใจไป! คนเหล่านี้ไม่ได้น่ากลัวเหมือนภาพที่เห็น ซึ่งบ่อยครั้งที่พวกเขาจะทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภายในประเทศ และจะไม่ทำร้ายผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนแต่อย่างใด