ทำไมประชากรหนุ่มสาวในประเทศญี่ปุ่นมากถึงล้านคนถึงเลือกที่จะขังตัวเองอยู่ในบ้าน หรือหลบอยู่แต่ในบ้านนานเป็นสิบ ๆ ปี?
สำหรับฮิเดะแล้วเขาเล่าว่า ปัญหาเริ่มขึ้นตอนเขาละทิ้งการเรียนและเลิกไปโรงเรียน “ผมเริ่มโทษตัวเองและพ่อแม่ก็เริ่มโทษผม ที่ไม่ยอมไปโรงเรียน และความกดดันก็ก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ ”
“หลังจากนั้น ผมก็ค่อย ๆ กลัวการออกไปข้างนอก กลัวการพบปะผู้คน และหลังจากนั้นผมก็ไม่สามารถออกไปข้างนอกบ้านได้อีกเลย”
ฮิเดะค่อย ๆ ลดการสนทนากับเพื่อน ๆ ทีละนิด และในที่สุดเขาก็เลิกคุยกับทุกคน แม่แต่กับพ่อแม่ของเขาด้วย เพื่อที่จะไม่ต้องเจอพวกเขาอีก ฮิเดะจะหลับในช่วงกลางวัน และตื่นมานั่งดูทีวีตลอดทั้งคืน
เขาเล่าว่า “ผมมีความรู้สึกแง่ลบมากมายในใจผม ความต้องการที่จะไปข้างนอก ความโกรธต่อสังคมและพ่อแม่ ความเสียใจที่อยู่ในสภาวะนี้ ความกลัวว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต และความอิจฉาต่อผู้คนที่กำลังใช้ชีวิตของพวกเขาอย่างปกติ”
และแล้วฮิเดะก็เริ่มที่จะ “ปลีกตัว” หรือ ที่เรียกกันว่า ฮิคิโคโมริ นั่นเอง
ในประเทศญี่ปุ่น ฮิคิโคโมริ เป็นศัพท์ที่รู้จักกันดีที่ใช้อธิบายลักษณะของประชากรหนุ่มสาวที่ปลีกตัวออกห่างจากสังคม กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น ได้อธิบายเกี่ยวกับ ฮิคิโคโมริ (hikikomori) ว่าคือ กลุ่มประชากรที่ปฏิเสธการออกจากบ้าน พวกเขาปลีกตัวออกจากสังคมและอยู่แต่ในบ้านนานกว่า 6 เดือน จิตแพทย์ทามากิ ไซโตะ ได้นิยาม ฮิคิโคโมริ ว่าเป็น “สภาวะที่กลายเป็นปัญหาของประชากรอายุปลายเลขยี่สิบ ที่เลือกจะขังตัวเองอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปทำกิจกรรมใด ๆ กับสังคมรอบข้างนานกว่า 6 เดือน แต่สภาวะนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาทางจิตอื่น ๆ แต่อย่างใด”
ไม่นานมานี้ นักวิจัยได้อธิบายลักษณะ 6 ประการที่ใช้ในการ “วินิจฉัย” สภาวะฮิคิโคโมริดังนี้:
- อยู่แต่ในบ้านทั้งวันและเกือบทุกวัน
- หลีกเลี่ยงการเข้าสังคมอย่างถาวร
- อาการนี้จะเข้ามามีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันปกติ ทั้งการทำงานในอาชีพ (หรือการเรียน) หรือในการเข้าสังคมและความสัมพันธ์
- มองว่าการปลีกตัวเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล
- มีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 6 เดือน
- ไม่มีอาการทางจิตผิดปกติอย่างอื่นมาเป็นสาเหตุให้เกิดสภาวะถอนตัวจากสังคมนี้
ความรุนแรงของสภาวะนี้ขึ้นอยู่กับกรณีของแต่ละบุคคล ในกรณีที่รุนแรงที่สุด คือ คนที่เก็บตัวอยู่แบบนั้นเป็นเวลาหลาย ๆ ปีหรือเป็นสิบ ๆ ปี โดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มแสดงอาการด้วยการไม่ยอมไปโรงเรียน หรือ ฟุโตะโกะ (futōkō) ในภาษาญี่ปุ่น
ตัวกระตุ้นที่ทำให้เด็กหนุ่มอยู่แต่ในห้องนอนอาจจะมาจากเหตุการณ์เล็ก ๆ เช่น ผลการเรียนต่ำ หรือ อกหัก แต่การปลีกตัวนี้เองก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาการทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และความรู้สึกกดดันทางสังคมอาจจะยิ่งซ้ำเติมให้เขาอยากอยู่ในสภาวะนั้นต่อไป
ความรู้สึกกดดันนี้เรียกว่า “เซเคนเทย์ (sekentei)” ซึ่งก็คือความกดดันทางชื่อเสียงของคุณในแวดวงสังคมที่คุณอยู่ และความกดดันที่เขาหรือเธอรู้สึกว่าจะต้องทำให้คนอื่นประทับใจอยู่เสมอ ยิ่งฮิคิโคโมริปลีกตัวออกห่างจากสังคมเท่าไหร่ เขาจะยิ่งรู้สึกกลัวความผิดพลาดจากการเข้าสังคมมากขึ้นเท่านั้น พวกเขาจะสูญเสียความเคารพและความมั่นใจในตัวเองทั้งหมดที่มี และความคิดที่จะต้องออกจากบ้านจะยิ่งดูน่ากลัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ปกครองที่มีบุตรอยู่ในสภาวะนี้ก็มีความกังวลเรื่องชื่อเสียงของตัวเองในแวดวงสังคมที่พวกเขาอยู่เช่นกัน ทำให้มักจะใช้เวลาตัดสินใจอยู่นานหลายเดือนก่อนที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ