มีหลายอย่างที่คุณจะสามารถพบเห็นได้เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโถส้วมพร้อมที่ชำระสุดไฮเทคอันโด่งดัง โรงแรมแคปซูลที่มีเอกลักษณ์แถมมีราคาถูก หรือแม้แต่ขนมคิทแคทที่มีรสชาติแปลกประหลาดไม่เหมือนที่ใดในโลก แต่!ยังไม่หมดแค่นี้ เพราะยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง คือ…”ภาษาอังกฤษสไตล์ญี่ปุ่น” ที่จะพบได้เฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น!
คล้ายกับในภาษาไทยที่เราจะมีการใช้คำทับศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ แต่ออกเสียงในสำเนียงแบบไทย ๆ ซึ่งชาวญี่ปุ่นเองก็มีการหยิบยืมภาษาอื่นมาประยุกต์ใช้เช่นกัน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากลของโลก ตลอดหลายปีที่ผ่านมาชาวญี่ปุ่นก็ได้คิดคำศัพท์อังกฤษสไตล์ญี่ปุ่นเอง
ซึ่งคำเหล่านี้เรียกว่า “วาเซย์ เอโกะ” (wasei-eigo) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “ภาษาอังกฤษที่สร้างในญี่ปุ่น” (หรือ “ภาษาอังกฤษที่มีแค่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น!”) ทุกวันนี้วาเซย์ เอโกะ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นไปแล้ว แม้ว่า วาเซย์ เอโกะ จะมีรากฐานมาจากภาษาอังกฤษ แต่คำที่ได้นำมาใช้นั้น มีความหมายที่ค่อนข้างแตกต่างออกไปจากความหมายเดิม และบางครั้งถ้าคุณได้ยินแล้ว อาจจะต้องอึ้งไปซักพักว่าแปลว่าอะไร และนี่คือ 10 ตัวอย่างของ วาเซย์เอโกะ ที่คุณอาจได้เจอในประเทศญี่ปุ่น
เมื่อตอนที่ผู้เขียนไปแมคโดนัลด์ในประเทศญี่ปุ่น เวลาที่จะสั่ง “เฟรนช์ฟรายส์” (french fries) ก็เล่นทำเอางงอยู่สักพักเหมือนกัน และต้องชี้ที่ภาพเมนูอาหารแทนเพื่อจะได้สั่งได้ถูกต้อง เพราะเฟรนช์ฟรายส์ที่ญี่ปุ่นจะใช้คำว่า “ฟราย โปเตโต้” หรือจะเรียกว่า “โปเตโต้ ฟราย” ก็ได้ คำว่า “เฟรนช์ฟรายส์” เป็นคำที่ไม่ค่อยใช้กันในหมู่คนญี่ปุ่น ยกเว้นว่า พวกเขาจะเคยไปต่างประเทศหรือได้รับอิทธิพลมาจากต่างประเทศ
ดังนั้น ถ้าใครอยากจะสั่งเฟรนช์ฟรายส์ที่ญี่ปุ่นให้ใช้คำว่า “ฟุราอิโดะ โปเตโตะ หรือ ฟราย โปเตโต้” นะคะ!
Skinship หมายถึง การสัมผัสกันทางกายภาพ เช่น การกอด จับมือ มันอาจจะเป็นเรื่องของมิตรภาพระหว่างเพื่อน หรือ แม่กับลูก ไม่จำเป็นที่จะต้องสื่อไปในทางความรักโรแมนติกเสมอไป
การหยอกล้อกันระหว่างกลุ่มวัยรุ่นผู้ชายแบบถึงเนื้อถึงตัวในประเทศญี่ปุ่นนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งมันเป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพและความสนิทสนมใกล้ชิดของพวกเขา แต่ก็อาจทำให้ชาวต่างชาติที่พบเห็นรู้สึกตกใจเล็กน้อย แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเพราะนี่คือ “สุกิน ชิพปุ” (Skinship) ระหว่างเพื่อนฝูงเท่านั้น
คำว่า High touch สำหรับคนญี่ปุ่นไม่ได้หมายถึง การสัมผัสถึงจิตใจ! เพราะมีครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนเคยพูดคำนี้กับนักเรียนชาวญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ นักเรียนคนนั้นได้มองมาที่มือเพื่อจะเตรียมทำท่า “ไฮไฟว์” จากนั้นก็เลยเริ่มเข้าใจว่า “High touch” ของคนญี่ปุ่น หมายถึง “high five” การยกมือขึ้นมาแปะกันนั่นเอง และเป็นเทรนด์ที่เป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้
ครั้งหน้าถ้าใครอยากจะทำท่า ไฮไฟว์ กับคนญี่ปุ่นให้เปลี่ยนเป็นพูดคำว่า “ไฮทัจจิ (haitacchi)” แทนนะคะ
Consent ในภาษาอังกฤษแปลว่า ความยินยอม แต่สำหรับภาษาญี่ปุ่น คำนี้หมายถึง “เต้าเสียบไฟฟ้า” ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ยิน ถึงกับมึนงงไปเลย
สำหรับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษคงจะสงสัยว่าทำไมคำว่า “Consent” (คอนเซ็นท์) ถึงสามารถนำมาใช้แบบนี้ได้ ว่ากันว่าคำนี้มาจากคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ คือ “concentric plug” (คอนเซ็นทริค ปลั๊ก) ซึ่งนิยมใช้ในช่วงยุคเมจิ (ค.ศ. 1868-1912) คำว่า คอนเซ็นท์ กลายเป็นคำย่อที่ใช้กันทั่วไป และต่อมาได้กลายเป็นคำที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นเพื่อเรียก “เต้าเสียบไฟฟ้า”
ซึ่งที่ชวนให้ปวดหัวก็คือ ทำไมคนญี่ปุ่นไม่สะกดด้วย Concent แทนไปเลย เพื่อจะได้ไม่ทำให้สับสน
เมื่อคุณเล่นวอลเล่ย์บอลกับเพื่อนชาวญี่ปุ่น และคุณไม่สามารถพาบอลไปยังสนามของฝ่ายตรงข้ามได้ อาจจะมีคนตะโกนบอกกับคุณว่า “ดอน-ไม” ซึ่งสิ่งที่เค้าบอกคุณแปลว่า “ไม่ต้องกังวลกับมัน” หรือ “ไม่ต้องใส่ใจ” นั่นเอง
ช่วงฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่นเป็นช่วงที่ค่อนข้างใช้ชีวิตลำบาก เพราะอากาศร้อนและมีความชื้นสูงจนหายใจไม่ออกเลยทีเดียว ดังนั้นการมีเครื่องปรับอากาศดูจะเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก
Aircon ออกเสียงว่า “แอคอน” แปลว่า เครื่องปรับอากาศในภาษาญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะไม่ใช้คำว่า “air conditioner” (แอร์คอนดิชั่นเนอร์) หรือ บางคนอาจจะออกเสียงว่า “AC” ซึ่งเป็นคำย่อของเครื่องปรับอากาศ
นอกจากนี้ ยังมีการใช้คำว่า “คูลา” (Cooler) ซึ่งในภาษาอังกฤษ “Cooler” หมายถึง สิ่งที่ช่วยเก็บความเย็นของอาหารหรือเครื่องดื่มระหว่างที่คุณออกไปแคมป์ปิ้งหรือไปปิคนิค ความหมายที่แตกต่างกันนี้อาจทำให้เข้าใจผิดได้และบางครั้งก็ยังสร้างความตลกขบขันด้วยเช่นกัน
ฤดูร้อนต้องมีเครื่องปรับอากาศ ส่วนฤดูหนาวก็ต้องมีเครื่องทำความอุ่น!
ในฤดูหนาวปีแรกที่ผู้เขียนมาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนคนญี่ปุ่นได้ถามว่า ที่บ้านมี สึโตบุหรือเปล่า? (ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึง เตาทำอาหาร) ผู้เขียนก็ตอบกลับไปอย่างมั่นใจเลยว่า “มี” และก็เล่าให้เพื่อนฟังว่าใช้เตาทำอาหารอะไรบ้างที่บ้าน แต่ตอนหลังเพิ่งจะมารู้ว่าสิ่งที่เพื่อนคนนั้นถาม หมายถึง ฮีทเตอร์ (Heater) เครื่องทำความอุ่นที่ใช้ในหน้าหนาว ซึ่งคนญี่ปุ่นจะเรียกว่า สึโตบุ (sutobu) หรือ สโตฟว์ (Stove) ซึ่งแปลว่า เตาทำอาหารในภาษาอังกฤษ!
“ไฮท์เทนชั่น” เป็นคำที่ใช้เรียก คนไฮเปอร์ หรือ มีพลังเหลือล้นอยู่ตลอดเวลา!
มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยสำหรับชาวญี่ปุ่นที่จะใช้คำว่า “ไฮท์เทนชั่น” ซึ่งเป็นคำที่คนญี่ปุ่นใช้เรียกคนที่มีลักษณะคึกคัก ตื่นเต้น ไฮเปอร์ หรือ บ้าพลัง คำว่า “tension” (เทนชั่น) แปลว่า ความตื่นเต้นในภาษาอังกฤษสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งจะตรงกันข้ามกับความหมายของภาษาอังกฤษ ที่โดยทั่วไปแล้วมักจะใช้กับพวก “แรงดันไฟฟ้า” (voltage) “ความกังวล” (nervousness) หรือ “ความแน่น” (tightness) ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีคนพูดกับคุณว่า คุณเป็นพวก “ไฮท์เทนชั่น” นั่นหมายความว่า คุณคือ “มนุษย์บ้าพลัง” นั่นเอง!
คำนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก
ลองจินตนาการภาพตามว่าคุณเคยรู้สึกเหมือนได้รับชัยชนะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม แล้วก็ชูกำปั้นขึ้นบนฟ้า พร้อมตะโกนว่า “ฉันทำได้แล้ว!” ซึ่งท่าทางแบบนี้สำหรับคนญี่ปุ่นเรียกว่า “กัตสึ โปซึ (gattsu pozu)”!
ในช่วงกลางยุคปี 60 ได้มีนักมวยมืออาชีพและเป็นผู้คว้าชัยชนะในการแข่งขันมวยสากลระดับโลก รุ่นไลท์เวท (WBC lightweight) ที่ชื่อ “กัตซ์ อิชิมาสึ” (Guts Ishimatsu) ในคำว่า “Guts Pose” นั้นก็มาจากท่าโพสอันมีเอกลักษณ์ของเขา หลังจากถูกประกาศว่าเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ เขาก็มักจะทำท่าเอากำปั้นชูขึ้นฟ้าเพื่อแสดงถึงชัยชนะของเขา ตั้งแต่นั้นมา คำนี้ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของคำศัพท์ วาเซย์ เอโกะ ในประเทศญี่ปุ่น
ค่าจ้าง คือ หนึ่งในเหตุผลทั่วไปว่า ทำไมคนเราถึงขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน หรือแย่กว่านั้น คือ มีแนวโน้มในการหางานใหม่! บางบริษัทอาจจะจูงใจพนักงานด้วยการขึ้นเงินเดือน ซึ่งคำว่า “เบสอัพ” (base-up) ใช้สำหรับการขึ้นเงินเดือนในภาษาญี่ปุ่น คำว่า “อัพ” (Up) แปลว่า “เพิ่มขึ้น” และ “เบส” (base) หมายถึง “เงินเดือนพื้นฐาน” ออกเสียงแบบญี่ปุ่นเป็น เบซึ อับปุ (besuappu)
ปีนี้มีใครได้ เบซึ อับปุ แล้วบ้าง?
Masukomi เป็นการเรียกแบบสั้นของคำว่า mass และ communication ในภาษาอังกฤษเมื่อพูดถึง mass communication ที่แปลว่า การสื่อสารมวลชน จะเป็นการพูดถึงสเกลที่ใหญ่และกว้างมาก แต่ในประเทศญี่ปุ่นจะใช้สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์
Kiihorudaa เป็นการรวมตัวกันระหว่างคำว่า “key” และ “holder” กลายเป็นภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นที่แปลว่า “KEY HOLDER” พวงกุญแจ
เป็นไอเทมที่สำคัญมาก ๆ สำหรับฤดูร้อน Biisan (ビーサン) หรือ รองเท้าแตะ (ที่ใช้บนชายหาด) นั่นเอง เป็นการรวมตัวกันระหว่าง Beach กับ Sandals สำหรับในภาษาอังกฤษจริง ๆ แล้วมีอยู่หลายคำ เช่น thongs หรือ flip-flops และในนิวซีแลนด์ยังมีคำว่า Jandals (เป็นคำที่มาจากรองเท้าแตะของญี่ปุ่น)
เป็นคำที่แตกต่างจากความหมายในภาษาอังกฤษอย่างสิ้นเชิง ถ้าใครตอนที่ได้ยินครั้งแรกสิ่งที่จะผุดขึ้นมาในหัวก็คือ ภาพของขนม มันฝรั่งทอด ของขบเคี้ยวต่าง ๆ ใช่มั้ยคะ?
ในประเทศญี่ปุ่น ถ้าคุณเดินไปตามถนนจะเห็นป้ายไฟที่อยู่หน้าร้านต่าง ๆ เขียวคำว่า “snack” แต่อย่าเข้าใจผิดนะคะว่าจะเป็นร้านขายขนมกินเล่น เพราะร้านเหล่านี้คือ ร้านเหล้าของญี่ปุ่นที่เขียนเป็นตัวอักษรคาตาคานะว่า “スナック” Snakku! เป็นคำที่มีที่มาจากภาษาอังกฤษอย่าง “Snack bar” แต่ในประเทศญี่ปุ่นจะหมายถึง บาร์ที่มีโต๊ะและมีเจ้าของร้านเป็นเป็นผู้หญิงที่เรียกกันว่า “มาม่าซัง” โดยทั่วไปจะมีคาราโอเกะ เสิร์ฟไวน์และเหล้าให้กับลูกค้า เป็นสถานที่สำหรับผู้ใหญ่ อารมณ์ร้านนั่งดริ้งค์
คนญี่ปุ่นจะใช้คำนี้เรียก พวงมาลัยรถยนต์หรือที่จับมอเตอร์ไซต์ แต่ในภาษาอังกฤษจริง ๆ จะใช้คำว่า “steering wheel” สำหรับรถยนต์ และ “handlebar” สำหรับมอเตอร์ไซด์ ดังนั้น ถ้ามาญี่ปุ่นอาจจะต้องเรียกสองสิ่งนี้ด้วยคำว่า handle นะคะ!
สิ่งที่ต้องระวังก็คือ バイク (baiku/bike) ในประเทศญี่ปุ่นไม่ได้หมายถึง จักรยานแต่เป็น “มอเตอร์ไซต์” เพราะคำว่าจักรยานในภาษาญี่ปุ่นจะใช้คำว่า jitensha (自転車)
ในภาษาอังกฤษคำว่า email หมายถึง อีเมล์ และคำว่า mail หมายถึง พัสดุหรือจดหมายต่าง ๆ แต่ในประเทศญี่ปุ่นคำว่า Mail (meeru/ メール) หมายถึง อีเมล์
Vinyl bag (Biniiru bukuro/ビニール袋) หมายถึง ถุงพลาสติก สิ่งที่เรามักจะได้มาจากการไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นจะเป็นการรวมกันระหว่างคำว่า “vinyl” ในภาษาอังกฤษ และคำว่า “Fukuro/Bukuro (袋)” ที่แปลว่า ถุงในภาษาญี่ปุ่น
ถ้ามาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วต้องการถุงให้พูดกับทางร้านว่า Biiniru bukuro
Text (Tekisuto /テキスト) คำนี้หมายถึง หนังสือเรียน ตำราเรียนต่าง ๆ เป็นคำที่ใช้ทั่วไปตามโรงเรียนและสถาบันศึกษา ในภาษาอังกฤษคำนี้จะหมายถึง ข้อความ รวมไปถึงการส่ง SMS เช่น “I`ll text you back” แต่ในญี่ปุ่นจะใช้แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
Mansion (manshon/マンション) คำนี้เราจะนึกถึงบ้านหลังใหญ่หรือคฤหาสน์ แต่ว่าในประเทศญี่ปุ่นจะใช้สำหรับอะพาร์ตเมนต์ที่เป็นตึกสูง หรือ คอนโดมีเนียม
คำนี้หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี สำหรับประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความขยันขันแข็งในการทำงาน เป็นการรวมตัวกันระหว่าง salary กับ man หมายถึง พนักงานบริษัท มนุษย์เงินเดือนนั่นเอง ส่วนมากจะใช้กับคนที่ทำงานในบริษัทและหน่วยงานของภาครัฐบาล เป็นคำที่ใช้บ่อยมากในประเทศญี่ปุ่น ภาพของ Salaryman (ซาลารี่แมน) คือ คนที่อยู่ในชุดสูทและจะพบเห็นในช่วงเวลาเร่งด่วนตามสถานีรถไฟ
ทั้ง 20 คำนี้ ถือเป็นน้ำจิ้มเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ “วาเซย์ เอโกะ” ซึ่งมันยังคงมีอีกมากมายหลายคำที่น่าเรียนรู้ คำพวกนี้อาจจะมีความหมายที่ค่อนข้างแตกต่างจากภาษาอังกฤษ และแปลกหูสำหรับผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษในตอนแรก แม้ว่า วาเซย์ เอโกะอาจจะไม่ได้เป็นภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง แต่ตราบใดที่มันคือคำที่ช่วยเพิ่มสีสันและความสนุกสนานให้กับการสื่อสาร ความถูกต้องทางหลักภาษาก็อาจไม่ได้สำคัญเท่าไหร่นัก
มาเรียนรู้ วาเซย์ เอโกะ (wasei-eigo) เพื่อจะได้เข้าถึงความเป็นญี่ปุ่นกันมากขึ้น
เริ่มจากการลองทำท่า กัตสึ โปซึ ไปด้วยกันนะคะ!