ไม่ว่าคุณจะตั้งใจที่จะเรียนภาษาญี่ปุ่นเพราะใจรัก หรือ เพราะสถานการณ์รอบตัวบังคับก็ตาม! การเรียนภาษาญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่าหลงใหล ท้าทาย และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ว่าจะเป็นระบบการเขียนที่มีตัวอักษรที่ต้องจำมากมายมหาศาล รวมถึงระดับความสุภาพของประโยค คำพ้องเสียง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้คุณท้อแท้และมองไม่ออกเลยว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคจนสำเร็จได้อย่างไร
ในความเป็นจริงแล้ว มันต้องมีความแตกต่างระหว่างคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยกันอยู่แล้ว คุณอาจจะมองว่ามันไม่ใช่เรื่องยากในการจำตัวอักษรญี่ปุ่นเลยสำหรับคนที่มาจาก “คันจิเคน (Kanjiken 漢字圏)” อย่างเช่น คนจีน คนไต้หวัน หรือคนเกาหลี ในขณะที่คนชาติอื่น ๆ อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก แต่เรื่องของการออกเสียงนั้น คนไทยอย่างเราหรือฝรั่งเองกลับออกเสียงได้ดีกว่า
อย่างไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ฉันจะบอกก็คือ เราทุกคนมีความเท่าเทียมกันหมดที่จะมองว่าภาษาญี่ปุ่นนั้นเป็นภาษาที่ยาก ถ้าไม่เชื่อล่ะก็ลองดูงานวิจัยจำนวนนับไม่ถ้วนที่จัดให้ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่เรียนยากเป็นอันดับหนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ต้องติดหนึ่งในห้าของภาษาที่ยากที่สุดในโลก
และจะทำยังไงให้การเรียนภาษาที่ยากที่สุดในโลกนั้น ประสบความสำเร็จได้ล่ะ
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นประโยชน์สำหรับคนที่ได้เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นแล้ว สำหรับคนที่ยังติดขัดทางความคิดว่าจะเรียนหรือไม่นั้นต้องติดตามต่อไป
เมื่อคุณเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น และพอจะรู้จักตัวอักษรฮิรางานะ คาตาคะนะ รวมถึงตัวคันจิประมาณสัก 500 ตัวแล้ว คุณก็สามารถที่จะเริ่มอ่านภาษาญี่ปุ่นได้แล้วล่ะ ลองเริ่มต้นจากอะไรง่าย ๆ เป็นหนังสือเรียนที่อยู่ในระดับความสามารถของคุณ หรือถ้าเป็นไปได้ก็ลองอ่านระดับที่สูงขึ้นไปด้วย และอ่านข้อความทั้งหมดที่มีอยู่ในนั้น ขอแนะนำให้คุณลองพยายามอ่านข้อความที่ยากขึ้นไปเรื่อย ๆ
ถ้าคุณอยู่ในระดับ N5 คุณอาจจะลองอ่านหนังสือของระดับ N4 ซึ่งในตอนแรกมันอาจจะทำให้คุณปวดหัวอยู่บ้าง แต่ขอให้คุณพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาหลักของข้อความนั้น ๆ และอย่าเพิ่งรำคาญตัวอักษรที่คุณไม่เข้าใจหรืออ่านไม่ออก ถ้าคุณทำได้แล้วให้ลองข้ามย่อหน้าถัดไปเลย
หากคุณได้เจอคำศัพท์ที่ไม่รู้จัก ให้ลองค้นหาความหมายของมัน เขียนมันลงไป รวมถึงเขียนประโยคที่ใช้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันลงไปด้วย วิธีนี้จะได้ผลดีถ้าคุณเขียนตัวอักษรคันจิลงไปด้วยอย่างน้อย 2-3 แถว แล้วถ้าเจอคำใหม่ ๆ ก็ลองใช้วิธีแบบเดียวกัน หาความหมายและเขียนมันลงไป แต่ต้องทำให้แน่ใจว่าคุณได้ลองใช้มันในบริบทจริง ๆ คำศัพท์จากพจนานุกรมอาจจะไม่เป็นประโยชน์เลยถ้าคุณไม่ฝึกทบทวน! และถ้าคุณทำเสร็จแล้วลองอ่านทบทวนอีกครั้ง พร้อมทำความเข้าใจไปด้วย อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าคุณจะเข้าใจทั้งหมด 100%
วิธีการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกช่วงเวลาที่คุณเรียนภาษาญี่ปุ่น แม้จะผ่านมา 10 ปีแล้วฉันก็ยังใช้วิธีการนี้ในการอ่านข้อความยาก ๆ แล้วมันก็ได้ผลดี
แล้วก็อย่ากลัวที่จะลองอ่านพวกวรรณกรรม ฉันรู้ว่ามันฟังดูยาก แต่หลังจากหกเดือนที่ฉันเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น ครูของฉันได้แนะนำหนังสือของ ฮารุกิ มุราคามิ (Haruki Murakami) มาให้ลองอ่าน แล้วให้ฉันอ่านให้จบภายใน 2 อาทิตย์ คงไม่ต้องบอกว่าฉันแทบไม่ได้นอนเลย แต่แบบนี้แหละที่ช่วยให้มีความมั่นใจมากขึ้น และความมั่นใจนี่แหละเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมากสำหรับคนที่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น
ในระดับต้นและระดับกลางคุณอาจจะลองเริ่มอ่านหนังสือประเภทนิทาน (โดยเฉพาะนิทานพื้นบ้านของคนญี่ปุ่น) หลังจากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนยอดนิยมอย่าง โยชิโมโตะ บานานะ (Yoshimoto Banana) (เธอใช้ตัวคันจิน้อยมาก), ฮารุกิ (Haruki) และ ริว มุราคามิ (Ryu Murakami) หรือ เคนซาบุโร่ โอเบะ (Kenzaburo Oe)
หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่ดีมากสำหรับคนเรียนภาษาญี่ปุ่น เพราะว่าใช้คำที่เป็นบทสนทนาในชีวิตจริง และเป็นภาษาทั่วไปไม่ทางการมาก
มันคงเป็นเรื่องง่ายถ้าคุณได้อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นขณะเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่ถ้าหากคุณอยู่ต่างประเทศ คุณต้องหาโอกาสในการฟังภาษาญี่ปุ่นอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน เราอยู่ในยุคที่มีอินเทอร์เน็ต ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับการหาสื่อภาษาญี่ปุ่นมาฟัง คุณอาจจะเริ่มจากการดูรายการอะไรก็ได้ ตั้งแต่การ์ตูนไปจนถึงละครญี่ปุ่น หรือรายการตลกไปจนถึงข่าว
ลองฟังซ้ำ ๆ หลายรอบอย่างเช่น การดูการ์ตูนอนิเมะเป็นตอน ๆ ที่คุณสามารถเล่นซ้ำกี่ครั้งก็ได้เท่าที่คุณต้องการจนกว่าจะเข้าใจทั้งหมด บางเรื่องก็มีซับไตเติ้ลประกอบด้วย ซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น
แต่มันอาจจะไม่มีประโยชน์ไปสักหน่อย เนื่องจากคุณจะมัวแต่พึ่งซับไตเติ้ลตลอด และไม่ได้ใช้ความคิดตัวเองในการจดจำ อย่างไรก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเพิ่งเริ่มต้น และซับไตเติ้ลนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ยังไงมันก็คุ้มค่า เพราะความคิดของมนุษย์นั้นจะซึมซับโทนเสียง การออกเสียง และสำเนียง ในท้ายที่สุดคุณจะเข้าใจคำต่างๆได้ภายในไม่กี่เดือน เนื่องจากคุณได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีกจากในการ์ตูนอนิเมะ หรือจากให้หนัง
บางครั้งคุณอาจคิดว่ามันอาจจะไม่เป็นประโยชน์เท่าไหร่ ถ้ามัวแต่พึ่งการอ่านซับไตเติ้ลตลอดเวลา โดยไม่ได้ฝึกเข้าใจความหมายด้วยตัวเอง แต่ยังไงก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะโดยธรรมชาติแล้วสมองของมนุษย์จะค่อย ๆ ซึมซับโทนเสียง การออกเสียง และสำเนียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน และในท้ายที่สุดคุณจะเข้าใจคำต่าง ๆ ได้ภายในไม่กี่เดือน เนื่องจากคุณได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากอนิเมะหรือหนังเรื่องโปรดนี่เอง
นักวิทยาศาสตร์ยังบอกอีกว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการเรียนภาษาต่างประเทศ คือการฟังขณะที่กำลังหลับ แม้ว่าคุณอาจจะจดจำอะไรไม่ได้ แต่ส่วนลึกของสมองนั้น จะทำงานให้อย่างมีประสิทธิภาพให้คุณสามารถเข้าใจและสามารถพูดได้
สำหรับคนที่อยู่ในต่างประเทศมีเว็บไซต์จำนวนมากที่คุณสามารถดูช่องรายการของญี่ปุ่นได้ฟรี บางรายการเป็นรายการจากทีีวีช่องหลัก และถ้าสัญญาณอินเทอร์เน็ตคุณดีพอ คุณก็สามารถดูได้ทั้งวันอีกด้วย
นี่อาจจะเป็นเรื่องยากสักหน่อยสำหรับผู้ที่ไม่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะการเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยการอ่าน หรือ การฟังอย่างเดียวนั้น อาจจะช่วยในเรื่องของการจดจำคำศัพท์ แต่การจะให้ได้ผลจริง ๆ จำเป็นต้องอาศัยการพูดด้วย
ซึ่งคุณสามารถทำได้โดยการสานสัมพันธ์กับชาวญี่ปุ่น หรือลองคุยกับคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศของคุณ แต่ปัญหาก็คือ จะไปหาตัวพวกเขาได้จากที่ไหน?
ลองมาดูกัน:
ลองเข้าไปมีส่วนร่วมในงานอีเว้นท์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานที่ที่คุณจะได้พบกับชาวญี่ปุนและได้สร้างมิตรภาพดี ๆ
ลองหาโอกาสที่จะพูดภาษาญี่ปุ่นกับครู ติวเตอร์ หรือเพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่น (ถ้ามี) แล้วลองชวนพวกเขาออกไปทานอาหารค่ำ ดูภาพยนตร์ หรือแม้แต่การออกไปเดินเล่น ไม่ต้องเสียใจไปนะคะ ถ้าพวกเขาไม่ไปด้วย เพราะอย่างน้อยคุณก็ได้ลองพยายามแล้ว
อีกวิธีหนึ่งก็คือ การใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งมีเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นมากมายมหาศาลสำหรับคนที่อยากเรียนภาษาญี่ปุ่น รวมถึงใน Facebook อีกด้วย
นอกจากนี้ คุณสามารถที่จะแลกเปลี่ยนการสอนภาษาของคุณให้แก่คนญี่ปุ่นได้ ซึ่งด้วยวิธีนี้คุณเองก็จะได้เรียนรู้คำศัพท์ ประโยคต่าง ๆ รวมถึงการแสดงออกในแบบที่ไม่อาจหาได้จากในหนังสือ
การฝึกเขียนภาษาญี่ปุ่นสามารถช่วยสร้างปาฏิหาริย์ด้านทักษะทางภาษาได้จริง ๆ นะ อาจจะเรียกได้ว่ามันเป็นการฝึกการใช้คำศัพท์แบบที่ไม่ต้องออกเสียง
ลองเขียนเรื่องราวอะไรก็ตามที่เข้ามาในความคิดของคุณ สิ่งที่คุณประทับใจ รบกวนคุณ ทำให้คุณหงุดหงิด หรือ ทำให้คุณมีความสุขในแต่ละวัน สิ่งที่สำคัญมากคือคุณจะต้องทำทุกวัน แม้ว่าคุณจะไม่มีเรื่องราวพิเศษอะไรให้เขียนเลยก็ตาม หลังจากนั้น คุณสามารถลองเขียนสิ่งที่มาจากจินตนาการของคุณเองก็ได้
การเขียนทุกวันเป็นการฝึกฝนที่ดีที่สุดในการเรียนรู้คันจิใหม่ ๆ และการได้ฝึกใช้แกรมม่าที่คุณได้เรียนมา ซึ่งจะทำให้คุณสามารถเลือกใช้คำได้ถูกต้องเหมาะสมกับบริบท ลองมาสร้างความท้าทายด้วยการเขียนวันละ 1 หน้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ และจะกระตุ้นให้คุณอยากเรียนรู้ตัวอักษรและการแสดงออกที่มากขึ้นไปอีก
อันนี้เป็นโบนัสพิเศษ บางคนอาจจะไม่ชอบการร้องเพลง โดยเฉพาะการร้องต่อหน้าคนเยอะ ๆ แต่ในประเทศญี่ปุ่น คุณสามารถแวะไปคาราโอเกะแบบส่วนตัวและปิดห้องร้องเพลงเพื่อฝึกฝนได้ตามสบาย
การไปคาราโอเกะให้ผลที่เกินความคาดหมายสำหรับนักเรียนภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากมันเป็นการผสมผสานทักษะสำคัญสามทักษะทั้งการอ่าน การฟัง และการพูด โดยในขณะที่คุณอ่านเนื้อเพลงและเปล่งเสียงร้องออกมา คุณก็จะได้ฟังเสียงของคุณเอง (และเปรียบเทียบกับเสียงของนักร้อง)
ฉันมีเพื่อนคนหนึ่งที่มีปัญหาติดขัดในเรื่องตัวอักษรคาตาคานะ คันจิ และการออกเสียง แต่หลังจาก 3 เดือนที่เขาได้มีโอกาสไปร้องคาราโอเกะ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง มันทำให้เขาสามารถอ่านคาตาคานะได้เร็วขึ้น และรู้จักคันจิที่อยู่ในเพลง แถมการออกเสียงก็เริ่มเหมือนชาวญี่ปุ่นอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
ถ้าบังเอิญว่าคุณอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อาจจะหาร้านคาราโอเกะที่มีเพลงภาษาญี่ปุ่นได้ยาก คุณอาจจะลองซื้อเครื่องร้องคาราโอเกะภาษาญี่ปุ่นมาเก็บไว้ที่บ้าน หรือลองค้นหาใน Youtube ซึ่งมีเพลงอีกจำนวนมหาศาลที่มีเวอร์ชั่นคาราโอเกะ หรือแอปพลิเคชั่นสำหรับร้องคาราโอเกะในสมาร์ทโฟนก็มีเพลงญี่ปุ่นให้คุณด้วยเช่นกัน ซึ่งนี่ถือเป็นวิธีการที่ดีสำหรับคนที่ไม่ต้องการเสียเงิน
ลองนำวิธีการทั้ง 5 นี้ไปใช้ในการเรียนภาษาญี่ปุ่นให้ประสบความสำเร็จดูนะคะ