ในประเทศญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะตัวบางอย่าง รวมทั้งภาษาที่แสดงออกมาเพื่อสื่อความหมายต่าง ๆ เช่นเดียวกับในหลายประเทศ อย่างเช่น เวลาที่สาว ๆ จะไปเข้าห้องจะชอบบอกว่า “เข้าไปเติมแป้งที่หน้าหน่อยนะ” แทนการพูดออกไปตรง ๆ ซึ่งสาว ๆ ญี่ปุ่นก็เช่นกัน มักจะเลี่ยงใช้คำว่า “ขอตัวไปล้างมือ” ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างของวัฒนธรรมในการสื่อความหมายในเชิงของภาษา
อีกอย่างหนึ่งที่น่าจะเห็นได้ชัด คือ การเลียนเสียงสัตว์ต่าง ๆ หรือ เสียงที่มนุษย์ได้ยินจากสัตว์ บางคำอาจจะคล้าย ๆ กันในหลายภาษา หรือ อาจจะต่างกันอย่างสิ้นเชิงและฟังดูเพี้ยนไปจากที่เราคุ้นเคย ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของภาษาญี่ปุ่น
กิอนโกะ/ giongo (擬音語) และ กิตาอิโกะ/ gitaigo (擬態語) – คำเลียนเสียงในภาษาญี่ปุ่น ซึ่งคุณอาจจะพอคุ้นเคยอยู่บ้าง อย่างเช่น ปิก้า ปิก้า (เสียงที่แสดงออกถึงความสดใสน่ารัก) จากตัวละครดังอย่าง ปิกาจู หรือ เกะโระ เกะโระ จาก ตัวการ์ตูนดังของ Sanrio อย่าง Kero Kero Keroppi
นอกจากนี้ เรามาดูเสียงของสัตว์ต่าง ๆ ในภาษาญี่ปุ่นกันว่า มีอันไหนบ้างที่พอจะคุ้นเคยผ่านหูมาบ้าง และใกล้เคียงกับเสียงของสัตว์ชนิดนั้นบ้างมั้ย:
ชนิดของสัตว์ | เสียงแบบญี่ปุ่น | เสียงในภาษาไทย |
---|---|---|
นก | ปิจู ปิจู pichu pichu (ぴちゅぴちゅ) | จิ๊บ จิ๊บ |
แมว | เนียง เนียง nyan nyan (にゃんにゃん) | เหมียว |
ไก่ | ปิ ปิ pi—pi-(ぴーぴー) | กุ๊ก กุ๊ก |
วัว | โม- mo—(もー) | มอ มอ |
สุนัข | วัง วัง wan wan(わんわん) | โฮ่ง โฮ่ง |
เป็ด | กา กา ga— ga—(がーがー) | ก๊าบ ก๊าบ |
แมลงวัน หรือ ผึ้ง | บู-น bu—n(ぶーん) | หึ่ง หึ่ง |
กบ | เกะโระ เกะโระ kero kero(けろけろ) | อ๊บ อ๊บ |
แกะ | เมะ เมะ me—me—(めーめー) | แบะ แบะ |
ม้า | ฮิ ฮิ hihi—n(ひひーん) | ฮี๊ ฮี๊ |
นกฮูก | โฮะ- ho—(ほー) | ฮูก ฮูก |
หมู | บุ บุ bu—bu—(ぶーぶー) | อู๊ด อู๊ด |
ไก่ตัวผู้ | โกะเกะ โกกเกะ kokekokko-(こけこっこー) | เอก อี เอ้ก เอ้ก |
ยังมีเสียงร้องของสัตว์อีกมากมายในภาษาญี่ปุ่น ที่อาจจะไม่มีคำอธิบายในภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ อย่างเช่น เสียงของสุนัขจิ้งจอกในภาษาญี่ปุ่นจะใช้คำว่า “คอน คอน kon kon” (コンコン) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับคำเหล่านี้ซักหน่อย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณเริ่มคุ้นเคยกับคำเหล่านี้ นั่นหมายความว่าเลเวลภาษาญี่ปุ่นของคุณได้พัฒนาไปอีกขั้นแล้ว!